วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

The Wrestler - ข้ามิเหลือรอยปีกไว้ในอากาศ... แต่ก็พอใจที่ได้ว่ายฟ้ามาแล้ว

 The Wrestler

แด่จิตวิญญาณแห่งศรัทธาของนักมวยปล้ำทุกคน
POSTER ภาพยนตร์ The Wrestler
          

 

         "ข้ามิเหลือรอยปีกไว้ในอากาศ แต่ก็พอใจที่ได้ว่ายฟ้ามาแล้ว" ผมหยิบยกเอาข้อความอันเกิดจากความวาดฝันแห่งศรัทธานี้มาจากหนังสือ "หิ่งห้อย" ของท่านอาจารย์ "รพินทรนาถ ฐากูร" บุรุษผู้ถูกขนานนามว่า "คุรุเทพ"... มหากวีผู้ซึ่งถ่ายทอดถ้อยคำนี้ออกมาแก่ผู้คน เพื่อเป็นสัญญะแห่งค่าความหมายของการดำรงชีวิตที่งดงามและล้ำค่า จนกระทั่งเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง เราสามารถกลับมานั่งมองเรื่องเหล่านั้น ด้วยรอยยิ้มและความรู้สึกที่อิ่มใจ
       
    นักมวยปล้ำก็เช่นเดียวกัน ผมได้มีโอกาสย้อนกลับไปรับชมภาพยนตร์เรื่อง The Wrestler... ภาพยนตร์ที่เป็นดั่งตัวแทนแห่งการสร้างความเข้าใจแก่สังคมกับกีฬาที่ถููกเรียกว่า "การแสดง"... พวกเขาเป็นใคร?... เหตุใดพวกเขาจึงสละความเป็นชีวิตที่แท้ และหันไปสวมบทบาทเป็นคนอื่นอยู่เกือบทุกเวลาแห่งความเป็นชีวิต? มันจะมีความสุขไปได้อย่างไร กับการที่ต้องละทิ้ง "ความเป็นตัวเอง" ไปแบบนี้      

               คำตอบทั้งหมดเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านบทเพลง "The Wrestler"... เพลงที่มีชื่อเดียวกับตัวหนังซึ่งได้รับการถ่ายทอดโดย "Bruce Springsteen"... บทเพลงนี้ถูกบรรเลงขึ้น ณ ช่วงเวลาที่แสนจะสับสนวุ่นวายหลังจากภาพในจอดับวูบลง ราวกับเป็นสัญญะว่า... เรื่องราวความเป็นไปของนักมวยปล้ำไม่ได้แสดงออกผ่านภาพแสดงเลย มันเป็นเพียงภาพมายาแห่งการสร้างค่าความหมายจอมปลอมให้เป็นดั่งอาภรณ์สูงค่าที่ใช้ประดับกายได้เพียงแค่ในช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น


              จากบทเพลงข้างบนนี้นั้น ได้ถ่ายทอดเรื่องราวแห่งความเป็นชีวิตของนักมวยปล้ำออกมาได้อย่างสมบูรณ์และเต็มเปี่ยม เขาเปรียบนักมวยปล้ำเป็นดั่ง "ม้าขาเดียว" ที่พยายามจะลากตัวเองให้ก้าวเดินไปบนเส้นทางเดียวกับคนทั่วไป และพยายามที่จะสร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้อื่นด้วยใจ ถึงแม้นักมวยปล้ำส่วนใหญ่จะไม่ได้พิการเฉกเช่นม้าขาเดียว แต่แท้จริงแล้ว ความหมายที่ซ่อนอยู่ในประโยคนี้ คือ "นักมวยปล้ำคือผู้ขายความฝันและศรัทธาให้แก่ผู้ชม" เป็นเรื่องน่าเศร้าเหลือเกิน ที่จุดสำเร็จแห่งความฝันนี้ มักไม่เคยออกมาสมบูรณ์แบบเลยแม้เพียงครั้ง พวกเขาต้องมีสถานะเป็นดั่งคนพิการ... ไม่ได้พิการทางร่างกาย หากแต่พิการทางจิตใจ แต่ถึงกระนั้น ม้าขาเดียว ก็ยังมีความสุขอยู่ในท้องทุ่งอันเป็นเสมือนถิ่นที่ของมันและนักมวยปล้ำก็มีถิ่นที่ของตนคือเวทีผ้าใบนั้น... นั่นแสดงให้เห็นว่าแม้ถนนหนทางที่ต้องเดินต่อจะยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด "นักมวยปล้ำก็ยังคงต้องเป็นม้าขาเดียวที่พยายามต่อสู้เพื่อก้าวเดินต่อไปอยู่ดี"
              
             "ผมพนันได้เลย ว่าคุณจะมีความสุขเมื่อเห็นผมเสียเลือดและล้มลงสู่พื้น" นี่คือท่อนหนึ่งของบทเพลงที่เป็นความจริงอันแสนเศร้าที่แฟนมวยปล้ำหลายๆคนหลงลืม เราไม่อาจกล้าหัวเราะหรือยิ้มได้เลย หากบุคคลที่กำลังเสียเลือดอยู่เบื้องหน้าไม่ใช่นักมวยปล้ำ นักมวยปล้ำแต่ละคนต้องใช้เวลากว่าครึ่งในการเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ ประโยคหนึ่งจากภาพยนตร์ที่กล่าวว่า "พวกผม(นักมวยปล้ำ) คือบุคคลที่ทำเพื่อสิ่งที่แฟนๆรัก หากแต่พวกเราไม่เคยต้องการให้แฟนๆทำสิ่งที่พวกเรารักตอบแทนเลย" ถ้าอย่างนั้น... นักมวยปล้ำต้องการอะไร?... คำตอบของมันก็คือสิ่งง่ายๆที่หลายคนมีแต่พวกเขาไม่มี นั่นก็คือ "ชีวิตของตัวเอง"...


ฉากประทับใจจากภาพยนตร์ The Wrestler : เมื่อพ่อลูกได้พบกันอีกครั้ง
            "คุณเคยเห็นหุ่นไล่กาที่เปล่ากลวงและเต็มไปด้วยฝุ่นไหม? ถ้าคุณเคยเห็น... นั่นแสดงว่าคุณก็เคยเห็นผม" เราจะเห็นว่ามีการเปรียบเปรยระหว่างชีวิตของนักมวยปล้ำกับสิ่งที่ดูเหมือนจะไร้ค่าอยู่เสมอ หุ่นไล่กา... สัญญะความเปล่าดายของชีวิตที่ทำอะไรไม่ได้อีกเลยนอกจากสร้างประโยชน์ไปตามหน้าที่ของมัน... นักมวยปล้ำคือผู้ละทิ้งความเป็นชีวิตของตนไปอย่างสิ้นเชิง เพียงแค่การตัดสินใจก้าวข้ามเชือก 3 เส้นเข้ามาบนเวที... ชีวิตของเขาก็กลับกลายเป็นอีกคนที่แม้แต่ตัวเองยังไม่เคยรู้จัก และหลังจากนั้น... ความเป็นชีวิตดั้งเดิมของตนเอง ก็จะค่อยๆจางหายไป

   
       เราเห็นนักมวยปล้ำมากมายประสบความสำเร็จ เราเห็นนักมวยปล้ำมากมายมีร้อยยิ้ม มีความสุข และดูเหมือนไม่น่าจะมีเรื่องอะไรให้ต้องเศร้าใจ เพียงแต่... "เขาเป็นใคร?"... ไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้แม้แต่ตัวของเขา เขาเพียงแค่ใช้ตัวตนจริงๆของเขาไปรับบทบาทเป็นคนในอีกชื่อหนึ่ง ในกริยาท่าทางอีกอย่างหนึ่ง ที่อาจจะไม่คุ้นเคยในคราวแรก แต่ก็ต้องทำให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งที่คุ้นเคย ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามแสดงให้เห็นว่า เมื่อช่วงเวลาผ่านไป การมีชีวิตเป็นดั่งเมื่อครั้งถึงจุดสูงสุดย่อมเป็นเรื่องที่ยาก หากแต่เราสามาถเลือกที่จะมองมันอย่างมีความสุข หรือจมปลักอยู่กับมันจนกลายเป็นความทุกข์ เพียงเท่านั้น...

      
ฉากคลาสสิกระหว่าง Randy " The Ram " Robinson และลูกสาว
            "พ่อเคยเป็นนักมวยปล้ำที่มีชื่อเสียง โด่งดัง และประสบความสำเร็จไปทั่วโลก หากแต่ในวันนี้ ช่วงเวลาเหล่านั้นทำให้พ่อสูญเสียช่วงเวลาอันมีค่าไป พ่อกลายเป็นแค่ตาแก่ไร้ค่า... ผู้ที่ไม่รู้จักแม้กระทั่งตัวตนของลูกสาว และกำลังจะเสียเธอไป"  ณ ช่วงเวลาแห่งการเป็นนักมวยปล้ำ ภาพยนตร์ใช้สัญญะของการมีชื่อเสียง และนำมุมมองด้านตรงข้าม (Opposition Theory) มาถ่ายทอดให้ผู้ชมเห็น ในความโดดเด่น โด่งดังนั้น กลับมีความเศร้าอย่างสุดซึ้งแฝงตัวอยู่ด้วย มันก่อตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆจนเหมือนจะทำให้ความภูมิใจในความเป็นตนเองเริ่มลดหายไป... "อย่าเรียกฉันด้วยชื่อจริง เรียกฉันในชื่อที่นายรู้จักดีสิวะ!" ประโยคข้างต้นคือภาพแสดงแรกของการต่อต้านตัวตนของตนเอง แต่หลังจากนั้น เมื่อเขาต้องตกอยู่ในสภาวะที่น่าอับอาย... การถูกเรียกด้วย "ชื่อที่แสนจะภูมิใจ" ณ ช่วงเวลานั้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับการถูกมีดอันคมกริบที่เข้าไปบาดหัวใจอันอ่อนล้าของเขาเลย...

 
           "นักมวยปล้ำต้องการสิ่งที่จะมายึดเหนี่ยวจิตใจ" และสิ่งที่จะมายึดเหนี่ยวตัวเขาได้ดีที่สุดก็คือครอบครัว... นั่นเพราะครอบครัวคือกลุ่มคนที่ "รักในตัวตนของเขา" ไม่ใช่ "รักในสิ่งที่เขาเป็น" เรามักจะเห็นนักมวยปล้ำอ่อนไหวกับเรื่องเหล่านี้ ในฐานะครอบครัว... เกือบร้อยทั้งร้อยนักมวยปล้ำมีครอบครัวที่ไม่สบความสำเร็จ... หลายต่อหลายคนเกิดปัญหา "ความห่างเหิน" ที่นำไปสู่ความแตกต่างและแตกแยกในความรัก... นักมวยปล้ำมักพยายามหาคนรักมาเติมเต็มตรงส่วนนี้ มันอาจจะดูยากเย็น แต่มันก็เป็นเพียงไม่กี่หนทางที่ตัวเขาจะสามารถทำได้ในช่วงเวลาที่ตัวเขาแทบจะเหลือใครเลย

           "ผมเองก็มีบ้านเช่นเดียวกับคนทั่วไป หากแต่ว่า... ผมกลับไม่สามารถอยู่ที่นั่นได้เลย"... นักมวยปล้ำที่เป็นนักมวยปล้ำจริงๆ มักจะมีทัศนคติต่อมวยปล้ำสมาคมใหญ่ๆที่มองถึงแต่ธุรกิจว่า "มันก็แค่ของเล่นเท่านั้น" นั่นเพราะความศรัทธาและเกียรติยศที่คนพวกนั้นแสดงออกมา มันเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่นักมวยปล้ำผู้ขับเคลื่อนด้วยความฝันแสดงออกมา แม้เพียงในฮอลล์เล็กๆที่มีคนดูเพียงไม่กี่ร้อยคน ด้วยเหตุนี้ มันจึงทำให้พวกเขาไม่อยากและไม่ได้เซ็นสัญญาเข้าไปในสมาคมใหญ่ๆที่เน้นธุรกิจ และสามารถทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยมีชื่อเสียงมากกว่าที่เป็นอยู่ได้... ดังนั้นแล้ว พวกเขาหลายคนจึงต้องกลายเป็นผู้เดินตามความฝันโดยปราศจากความสุข... มันอาจจะดูเป็นเรื่องแปลกๆที่ความฝันของใครจะเป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ แต่สำหรับมวยปล้ำ มีคนกล่าวเอาไว้ว่า "นักมวยปล้ำคือบุคคลที่ทำให้คนดูมีความสุขไปกับความทุกข์ของตนเอง" นี่คือสิ่งที่แตกต่างออกไป ลองคิดตามดูสิว่า "หากนักมวยปล้ำถอดสิ่งที่ถูกมอบให้เป็นบทบาทประจำตัวทิ้งไป ตัวเขาจะต่างอะไรไปจากมนุษย์ที่เปล่ากลวง?"

           บทบาทที่น่าเศร้าในตอนจบของเรื่องก็คือการตัดสินใจที่จะกลายไปเป็น "SOMEBODY" ในสังคม... ไปสร้างค่าความหมายแห่งชีวิตของตนเองอีกครั้ง ตัวบทของหนังดำเนินเรื่องไปจนถึงห้วงขณะที่ "ความเป็นชีวิต" ของเขากำลังได้รับการยอมรับ แต่ทว่า... เรื่องราวบางอย่างที่เสียไป มันก็ไม่สามารถย้อนกลับคืนมาได้เสมอ ความผิดพลาดและ หยาดน้ำตาของแต่ละคน ได้บอกให้เขารู้ว่า สุดท้าย เขาก็ "เสียความเป็นชีวิตของตนไปแล้วจริงๆ" นั่นคือเหตุผลที่ "Randy The Ram Robinson" ตัวเอกของเรื่องตัดสินใจหันหลังให้กับการใช้ชีวิตปกติ ไปสู่การเสี่ยงที่จะขึ้นปล้ำในช่วงเวลาที่ถือเป็นจุดพลิกผัน (TURNING POINT) ครั้งสำคัญของชีวิต นี่คือสัญญะแห่งการประกาศก้องว่า "ซากร่างที่หยัดยืนอยู่นี้ ไม่ได้เป็นของเขาอีกต่อไปแล้ว"

          ช่วงขณะสุดท้ายแห่งความเป็นชีวิต... เสียงตะโกนเรียกชื่อของเขายังคงดังกึกก้อง... น้ำตาแห่งวีรบุรุษของเขาหลั่งรินออกมา... หลั่งออกมาเพราะตื้นตัน? หลั่งออกมาเพราะเศร้าใจ? หรือหลั่งออกมาเพราะเขาไม่มีใครเหลืออยู่แล้ว แม้แต่ผู้ที่ร่ำร้องเรียกเขาอยู่นี้...

          ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นภาพแสดงที่ชัดแจ้งสำหรับนักมวยปล้ำ... ขอเพียงเราหันกลับไปย้อนดู บุคคลที่กำลังเอาความฝันและศรัทธาออกมาฟาดฟันกันเบื้องหน้า... พวกเขาคือผู้ที่เสียสละทุกสิ่งเพื่อกลายมาเป็นบุคคลที่แฟนๆต้องการ ขอให้เรามองพวกเขา ด้วยค่าความหมายที่เหนือกว่าบทบาทที่พวกเขาได้รับ อย่าปล่อยให้คุณค่าของนักมวยปล้ำ กลายเป็นเพียงแค่เสื้อผ้าราคาแพงที่ดูหรูหราแต่ก็สูญสลายไปตามกาลเวลา... ในฐานะแฟนมวยปล้ำคนหนึ่ง "มวยปล้ำ คือศาสตร์ที่สร้างค่าความหมายให้แก่ชีวิตของผมเช่นเดียวกัน" ดังนั้น ทุกหยดเลือด หยาดน้ำตา ที่พวกคุณเสียไป จะไม่มีวันหมดสิ้นความหมายไปจากใจของผมอย่างแน่นอน

                                                                    


                                                                         ด้วยจิตคารวะ
                                                      แด่นักมวยปล้ำผู้มอบจิตวิญญาณให้กับทุกคน
                                                                    ปูมิ - Wrestling Article

0 comments:

แสดงความคิดเห็น