วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

WHY YOU HAVE TO WATCH : DRAGON GATE PRO WRESTLING

WHY YOU HAVE TO WATCH

-DRAGON GATE PRO WRESTLING-

โลโก้ของสมาคม Dragon Gate ครับ

            ภายหลังจากที่ LIVE TV ประกาศเปิดตัวช่อง SPORT PLUS พร้อมด้วยการนำเสนอมวยปล้ำชั้นเยี่ยมจากหลากหลายสมาคม ทั้ง TNA , All Japan Pro Wrestling , New Japan Pro Wrestling ฯลฯ ในขณะที่อ่านรายละเอียดเหล่านี้อยู่นั้น สายตาผมก็สะดุดไปกับชื่อของ Dragon Gate Pro Wrestling สมาคมมวยปล้ำขวัญใจชาวอินดี้ที่โด่งดังถึงขนาดไปเปิดสาขาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงมองว่ามันเป็นกำไรอย่างยิ่งสำหรับแฟนมวยปล้ำชาวไทยที่ได้มีโอกาสรับชมมวยปล้ำคุณภาพแบบนี้โดยสะดวก และเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

            แต่ถึงกระนั้นผมก็รู้อยู่แก่ใจว่าแฟนมวยปล้ำส่วนใหญ่ในประเทศไทยมองมวยปล้ำญี่ปุ่นเป็นเรื่องไกลตัว ยิ่งสมาคม Dragon Gate เป็นสมาคมรองของญี่ปุ่น ต่างจากสมาคมใหญ่อย่าง New Japan Pro Wrestling , Pro Wrestling Noah หรือ All Japan Pro Wrestling ที่อาจจะผ่านหูผ่านตากันบ้าง  ดังนั้นผมจึงเกิดความคิดที่จะทำบทความขึ้นมาสัก 5 บทความ ว่าด้วย "ทำไมคุณถึงต้องดูมวยปล้ำสมาคมเหล่านี้" โดยบทความจะพูดถึง All Japan Pro Wrestling , New Japan Pro Wrestling ,TNA Wrestling , Dragon Gate Pro Wrestling และมวยปล้ำหญิงญี่ปุ่นโดยภาพรวม (Joshi Puro) ซึ่งผมคิดว่าน่าจะช่วยให้แฟนมวยปล้ำมีความสนใจที่จะรับชมสมาคมเหล่านี้มากยิ่งขึ้นครับ และสมาคมมวยปล้ำที่กล่าวถึงใน 5 บทความดังกล่าวนี้ ทุกคนสามารถติดตามชมได้ทาง Sport Plus ครับ

          
สำหรับบทความแรกนี้จะขอพูดถึงสมาคม Dragon Gate Pro Wrestling สมาคมมวยปล้ำอินดี้ที่เป็นหนึ่งในสมาคมที่แฟนมวยปล้ำยอมรับว่ามีความน่าสนใจและสมบูรณ์แบบที่สุด นั่นเพราะสมาคมนี้เป็นสมาคมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 1999 ในนาม Toryumon สมาคมมวยปล้ำที่พัฒนามาโดย Ultimo Dragon นักมวยปล้ำรุ่นเล็กที่กล่าวกันว่ามีคุณูปการต่อวงการมากที่สุดในโลก ชื่อ Toryomon แปลว่า "ประตูแห่งมังกร" ขยายความได้ว่า "การต่อสู้เพื่อไต่เต้าไปสู่ประตูแห่งมังกรที่เหนือไปกว่าความสำเร็จทั้งปวง" นั่นคือความศักดิ์สิทธิ์ของมวยปล้ำญี่ปุ่นที่มักมองไปถึงเรื่องของ "ความภาคภูมิใจ" รวมอยู่ด้วยเสมอ

                 ความเป็นมาของสมาคมนี้เริ่มตั้งแต่การที่ Ultimo Dragon เดินทางไปเม็กซิโกและศึกษาวิธีการปล้ำแบบเหิรเวหาและวัฒนธรรมหน้ากาก หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Lucha Libre ที่เม็กซิโกนั้น การที่นักมวยปล้ำใส่หน้ากากออกมาปล้ำ มีความหมายที่ลึกซึ้งราวกับว่าเราได้ถอดวิญญาณแห่งตัวตนของเราออกไปและนำจิตวิญญาณแห่งหน้ากากนั้นมาสวมใส่เราแทน ดังนั้นมันจึงเป็นหน้าที่ของเหล่านักมวยปล้ำที่จะพัฒนาตนเองให้ยอดเยี่ยมและดีพอที่จะสวมใส่หน้ากากเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้หลังจากที่เขาได้ศึกษาแนวทางการปล้ำของเหล่า Luchadore จนแตกฉานแล้ว สิ่งหนึ่งที่คิดขึ้นมาได้ก็คือการย้อนกลับไปมอบแนวทางแห่งเกียรติยศนี้ให้แก่ชาวญี่ปุ่นอันเป็นแผ่นดินเกิดของเขา โดยในขั้นแรกเขาใช้ตัวเองเป็นเสมือนตัวแทนแห่งลูกพระอาทิตย์ที่ออกไปเผยแพร่วัฒนธรรมมวยปล้ำของตนเอง (Puroresu) ให้ชาวต่างชาติยอมรับ ซึ่งเขาก็ทำสำเร็จด้วยการเปิดโรงยิม Toryumon Mexico (ในภายหลังเป็น Ultimo Dragon Gym) และมีจุดที่สำคัญโดดเด่นก็คือการสร้างรูปแบบมวยปล้ำใหม่ที่ผสมผสานกันระหว่างเม็กซิโก และ ญี่ปุ่น สไตล์การปล้ำนั้นเรียกว่า LUCHA RESU  อันหมายถึงการปล้ำแนวผาดโผนผสมกับการปล้ำแบบภาคพื้นดินสไตล์ญี่ปุ่น (Lucha Libre + Mat - Based Wrestling) 

จากภาพมีเข็มขัด 9 เส้นนะครับ (อีก 2 ได้ใน WCW ภายหลังครับ) เข็มขัดในภาพทั้งหมดได้มาจากการเอาชนะ Great Sasuke ผู้ชนะ J-Crown Champions ซึ่งเป็นรายการที่เอาแชมป์รุ่นเล็กของสมาคมทั่วโลกมาแข่งแบบทัวร์นาเมนต์ครับ 


              ด้วยความที่เขาเป็นนักมวยปล้ำคนเดียวในโลกที่สามารถครองเข็มขัดพร้อมกันถึง 11 เส้นได้ ดังนั้นเขาจึงได้รับความเคารพและน่าเชื่อถือเป็นอย่างสูง มีผู้คนมากมายเข้ามาเรียนมวยปล้ำในยิมแห่งนี้ และเพื่อเป็นการรองรับจำนวนลูกศิษย์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนเพื่อมิให้นักมวยปล้ำที่จบการศึกษาจากที่นี่ต้องพบกับปัญหาเรื่องไม่มีค่ายปล้ำ ดังนั้นเขาจึงเปิดค่าย Toryumon ขึ้นมาเพื่อให้เหล่าลูกศิษย์ของเขาได้มีโอกาสแสดงฝีมือและขัดเกลาความสามารถนั่นเอง

             สมาคม Toryumon มีอยู่ทั้งในเม็กซิโกและญี่ปุ่น โดยกลไกสำคัญที่ทำให้สมาคมนี้สามารถเติบโตไปได้อย่างมั่นคงและรวดเร็วก็คือจำนวนนักมวยปล้ำฝีมือดีที่ได้ปรากฏสู่สายตาแฟนมวยปล้ำทั่วโลกผ่านรายการของสมาคมนี้ 
             และสำหรับในแง่ของเข็มขัดแชมป์ Toryumon ก็เป็นเช่นเดียวกับสมาคมอื่นๆในช่วงก่อตั้งใหม่ นั่นคือการนำเข็มขัดของสมาคมมวยปล้ำโลก หรือ NWA ( National Wrestling Alliance ) มาเป็นเข็มขัดใหญ่ของสมาคม (กรณีของ TNA ก็เริ่มต้นโดยการใช้ชื่อ NWA - TNA และใช้เข็มขัดของ NWA มาจนมีฐานรากมั่นคงจึงเปลี่ยนมาใช้เข็มขัดของตนเอง) หากแต่ทาง Toryumon กลับเลือกเข็มขัดรุ่นเล็กของ NWA เท่านั้น นั่นหมายถึงว่า Toryumon คือสมาคมที่มุ่งเน้นในการให้ความสำคัญกับนักมวยปล้ำรุ่นเล็กและถือเป็นสมาคมที่ให้ค่ากับการปล้ำสไตล์นี้มากที่สุดในโลก

Ultimo Dragon @ WrestleMania XX 
             อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดที่ไร้การเปลี่ยนแปลง Toryumon ก็เช่นเดียวกัน ช่วงเวลาแห่งความพลิกผันนี้เกิดขึ้นในปี 2004 เมื่อ Ultimo Dragon ผู้นำและผู้ริเริ่มแห่งตำนานได้ตัดสินใจย้ายออกจากสมาคม เรื่องราวเกี่ยวกับการออกจากสมาคมของเขานั้น เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2003 อันเป็นช่วงเวลาที่เขาตัดสินใจเดินตามความฝันและเป้าหมายแห่งชีวิต 2 ข้อ นั่นคือ ได้ปล้ำในศึก WRESTLEMANIA และ ได้ปล้ำใน Madison Square Garden ทำให้เขาต้องตัดสินใจออกจากสมาคมชั่วคราวไปช่วงหนึ่ง (ระหว่างปี 2003 - 2004) เพียงแต่เมื่อเขาหมดสัญญากับทาง WWE ลง เขากลับไม่ร่วมก้าวไปพร้อมกับ Toryumon ดังเดิม และเดินออกจากสมาคม "พร้อมด้วยชื่อและสิทธิ์ต่างๆในนาม Toryumon"

                ดังนั้น Toryumon จึงไม่สามารถใช้ชื่อนี้ได้อีกต่อไปแม้จะมีนักมวยปล้ำชุดเดิมก็ตาม เหตุนี้จึงมีการเปลี่ยนชื่อของสมาคมเสียใหม่เป็น "Dragon Gate" อันมีความหมายเดียวกับ Toryumon และสนับสนุนนักมวยปล้ำให้ไปฝึกที่เม็กซิโก โดยต้องการให้เมืองเม็กซิโก มีสถานะเป็นดั่ง "เมกกะ" ของชาวอิสลาม และเมื่อรวมเอาการสนับสนุนเหล่านี้ ไปผสมผสานกับพื้นฐานมวยปล้ำของแต่ละคนที่ได้รับการฝึกอย่างดีเยี่ยมแล้ว ก้ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆเลยที่จะบอกว่า "นี่คือหนึ่งในสมาคมมวยปล้ำเฉพาะทางที่ดีที่สุดในโลก"

ROH : Dragon Gate Challenge  หนึ่งในรายการมวยปล้ำยอดเยี่ยมแห่งปี
                ในฐานะสมาคมมวยปล้ำที่ให้ความสำคัญกับนักมวยปล้ำร่างเล็ก ค่าความหมายตรงส่วนนี้ถูกตอกย้ำให้เห็นชัดเจนขึ้นด้วยการนำเสนอว่า "นักมวยปล้ำร่างเล็ก ไม่ได้มีแค่การแสดงความผาดโผนอย่างเดียว" Dragon Gate ได้แสดงให้เห็นถึงการปล้ำเทคนิคที่ยอดเยี่ยม การปล้ำแนวล็อคขั้นสูง ซึ่งแต่ละคนก็ทำได้ไม่แพ้หรืออาจจะดีกว่านักมวยปล้ำตัวใหญ่ด้วยซ้ำ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือการเดินทางไปปล้ำในค่าย Ring of Honor (ROH) หนึ่งในสมาคมอินดี้ที่สร้างนักมวยปล้ำชั้นนำประดันวงการมากที่สุด โดยนักมวยปล้ำจาก Dragon Gate สามารถคว้ารางวัล แมตช์ 5 ดาว อันเป็นรางวัลที่แสนทรงเกียรติมาครองได้สำเร็จ
               จากที่กล่าวไปในข้างต้นว่ารูปแบบการปล้ำของ Dragon Gate ส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเม็กซิโก ดังนั้นรูปแบบการปล้ำหลายต่อหลายอย่างจึงต่างจากสมาคมมวยปล้ำทั่วไปที่เราคุ้นเคย กล่าวคือนักมวยปล้ำของ Dragon Gate นั้นจะแบ่งเป็น Squad หรือ Unit ย่อยๆเพื่อแข่งขันกัน โดยแต่ละทีมก็จะมีหัวหน้าทีม (Captain) และนักมวยปล้ำกลุ่มตัวจริง / ตัวสำรอง เพื่อไปแข่งขันชิงแชมป์ของแต่ละประเภท คือแชมป์เดี่ยว แชมป์แทคทีม และแชมป์แทคทีมสามคน

ตัวอย่างนักมวยปล้ำในแมตช์ 6-man Tag Team Match จากสมาคม CMLL ของเม็กซิโกครับ
               ขอกล่าวถึงเรื่องของ แทคทีม 3 คน สักเล็กน้อย ในเม็กซิโกนั้น สมาคมดังๆอย่าง AAA หรือ CMLL ล้วนมีแมตช์การปล้ำลักษณะนี้ทั้งสิ้น และเป็นแมตช์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะทำให้การปล้ำมีความต่อเนื่องและรวดเร็ว และส่วนที่สำคัญของ Dragon Gate อีกอย่างก็คือการ "ไม่ต้องแทค" โดยจะใช้วิธีการให้นักมวยปล้ำเข้าไปที่มุมแทนและนักมวยปล้ำในทีมก็จะสลับเปลี่ยนเข้ามาได้ทันที
เข็มขัด Open The Dream Gate : เส้นใหญ่สุดของสมาคม
      ข้ามมาในส่วนของเข็มขัดอีกสักนิดก่อนจะเข้าสู่เรื่องของนักมวยปล้ำ เข็มขัดของ Dragon Gate จะใช้ชื่อต่างจากสมาคมอื่นๆทั่วโลก โดยจะเป็นรูปแบบ "Open the .......... Gate" หมายความว่านักมวยปล้ำที่มาท้าชิงเข็มขัดนั้นจะมีกุญแจอยู่ดอกหนึ่งเพื่อไขประตู(ตามตำนานความเชื่อเรื่องประตูมังกร) โดยหากชนะแชมป์ คุณก็จะมีสิทธิ์ในการไขกุญบนเข็มขัด และนำชื่อตัวเองไปไว้บนเข็มขัด อันแสดงถึงเกียรติยศและความภาคภูมิใจของนักมวยปล้ำนั่นเอง (เท่มาก)


                สำหรับนักมวยปล้ำของ Dragon Gate นั้น ได้ชื่อว่ายอดเยี่ยมที่สุดและเป็นที่หมายปองของสมาคมใหญ่ๆทั่วโลก ผมขอยกตัวอย่างดาราประจำสมาคมที่แฟนๆชอบนั่นคือ CIMA , Dragon Kid และ PAC (ผมวัดเอาจากการพูดถึงของแฟนๆชาวไทยเป็นหลักครับจริงๆยังมีคนที่น่าสนใจอยู่อีกมาก) ดังนั้นเราไปเริ่มกันที่ CIMA ก่อนละกันครับ

CIMA
                
        - CIMA เป็นแชมป์คนสุดท้ายของ Ultimo Dragon Gym ดังนั้นเขาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นแชมป์ Open The Dream Gate คนแรกของสมาคม และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเขาถือเป็นนักมวยปล้ำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของ Dragon Gate ในช่วงเริ่มต้นเขาได้รับการฝึกโดยตรงจาก Ultimo Dragon และตำนานแห่งเม็กซิโกอย่าง Dos Caras (บิดาของ Alberto Del Rio ใน WWE ครับ) ดังนั้นทำให้เขามีความสามารถทั้งทาง LuchaResu และความสามารถในสาย Lucha เพียวๆ อย่างยอดเยี่ยม CIMA มีประสบการณ์ปล้ำมาทั่วทั้งโลก ผ่านการพบเจอกับสุดยอดนักมวยปล้ำมาแล้วมากมายไม่ว่าจะเป็น Aj Styles , Jushin Liger หรือกระทั่ง Jamie Noble เมื่อครั้งไปปล้ำทดลองใน WWE (แต่ก็ผิดหวังไปเมื่อถูกปฏิเสธการเซ็นสัญญา - ด้วยความที่เก่งเกินและไม่อยากทำตาม WWE สั่งที่ให้ใช้ท่าได้แค่จำกัดเท่านั้น) ปัจจุบัน CIMA เป็นผู้นำของกลุ่ม WARRIORS และเป็นแชมป์ OPEN THE TRIANGLE GATE ของสมาคม ร่วมกับ Genki Horiguchi และ GAMMA  ในนามของ WARRIORS ครับ
                    


           - Dragon Kid : คือตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้อย่างแท้จริง เขาเริ่มต้นในวงการมวยปล้ำในฐานะของ กรรมการในสมาคม FMW เพราะไม่มีใครยอมรับด้วยเหตุที่ว่าตัวเล็กจนเกินไป แต่ด้วยความพยายามและไม่ละทิ้งความฝัน ทำให้ความสามารถของเขาไปเข้าตา Jinzei Shinzaki สุดยอดนักมวยปล้ำญี่ปุ่นที่แฟนๆมวยปล้ำอเมริการู้จักในชื่อ HAKUSHI ด้วยเหตุนี้ Jinzei ได้จึงได้ฝากเขาเป็นศิษย์ของ Ultimo Dragon และเขาก็ไม่ทำให้ใครผิดหวัง เมื่อสามารถพัฒนาตนเองมาได้อย่างยอดเยี่ยมและกลายเป็นผู้ชำนาญการใช้ท่าตระกูล RANA (เกี่ยวคอ) จนได้รับฉายาว่า "Grandfather of the Hurricanrana" รวมไปถึงฉายาอันทรงเกียรติเมื่อเขาประสบความสำเร็จในปัจจุบันว่า "Child of God"
              
 
- PAC : ชื่อจริงของเขาคือ Ben Satterly อดีตนักยิมนาสติกผู้มีความสามารถยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของประเทศอังกฤษ เขาได้เดินตามความฝันในการเป็นนักมวยปล้ำโดยการดัดแปลงยิมนาสติกให้เข้ากับกีฬามวยปล้ำได้อย่างยอดเยี่ยมจนเรียกได้ว่าเป็นเจ้าแห่งการเหิรเวหา เหตุนี้ทำให้เขาได้รับฉายาว่า "มนุษย์ที่แรงโน้มถ่วงหลงลืม" เรียกได้ว่าในการปล้ำแต่ละแมตช์ เขาใช้เวลาอยู่บนอากาศมากกว่าอยู่บนพื้นเสียอีก PAC ได้รับการโหวตหลายครั้งให้เป็น "นักมวยปล้ำที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนปัจจุบันของสหราชอาณาจักร" แน่นอน เขาไม่ได้ปล้ำอยู่ในสมาคมใหญ่ๆ ไม่ได้ออกโทรทัศน์ให้แฟนๆเห็นหน้าบ่อยครั้งอย่างเช่นนักมวยปล้ำจากสหราชอาณาจักรคนอื่นๆ แต่ด้วยเวลาเพียงไม่กี่นาทีต่อสัปดาห์ เขากลับทำให้แฟนๆจดจำและจารึกชื่อของเขาไว้ในหัวใจ นั่นคือสิ่งสำคัญที่ PAC เหนือกว่านักมวยปล้ำคนอื่นๆ ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของเข็มขัด Open The Brave Gate (เข็มขัดที่จำกัดน้ำหนักของนักมวยปล้ำไม่เกิน 83 กิโลกรรม หรือ 180 ปอนด์) ดังนั้นหากแฟนๆมวยปล้ำมีโอกาสได้ชม Dragon Gate ก็ไม่ควรที่จะพลาดชมแมตช์การปล้ำของเขาด้วยประการทั้งปวงครับ

             และเพื่อตอกย้ำความยอดเยี่ยมของสมาคม Dragon Gate ได้ขยายสาขาไปยังสหรัฐอเมริกาอย่างยิ่งใหญ่และเป็นทางการ โดยมีนักมวยปล้ำอินดี้ที่มีฝีมือจากหลายๆสมาคมแวะเวียนเข้ามาปล้ำอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น "The Best Wrestler in the World" Bryan Danielson  (Daniel Bryan ใน WWE) , Mike Quackenbush เทพเจ้าแห่งโลกอินดี้คนปัจจุบัน หรือเหล่าตำนานอย่าง Tommy Dreamer อดีต ECW ORIGINAL เรียกได้ว่าที่นี่คือ "ศูนย์รวมแห่งความเป็นสุดยอดทั้งปวง"

ภาพจากเวทีของ Dragon Gate USA ครับ
             เป็นยังไงกันบ้างครับ สำหรับ Dragon Gate Pro Wrestling หลังจากที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว ผมหวังว่าแฟนๆมวยปล้ำคงจะมีความสนใจและอยากชมรายการมวยปล้ำนี้กันมากขึ้นนะครับ ถึงแม้มวยปล้ำค่ายนี้จะไม่ได้มีแสงสีเสียงตระการตาเหมือนเช่นสมาคมใหญ่ทั่วไป แต่หากสิ่งที่คุณกำลังถามหา คือสิ่งที่เรียกว่า "มวยปล้ำ" แล้วล่ะก็ มันก็เพียงพอแล้วล่ะครับ ที่คุณจะหันมามองสมาคมแห่งนี้นี้... ดูมวยปล้ำให้สนุกครับ

ปล. บทความนี้มีลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ห้ามมิให้มีการลอกเลียนหรือนำไปแก้ไขโดยมิได้รับอนุญาตจากทาง Wrestling Article เป็นอันขาด
หากมีปัญหาหรือคอมเมนต์อะไร สามารถเขียนลงใน COMMENT ได้เลยครับ

1 comments:

Kom Rachata กล่าวว่า...

เป็นบทความแนะนำที่ดีครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบอย่างมากใน DG ก็คือ การที่นักมวยปล้ำทุกคนสามารถปล้ำได้ทุกแบบนี่แหล่ะครับ ตั้งแต่เหินฟ้า ท่าล๊อค Mat Base ยันท่าตอกโหดๆ มีครบกับทุกคน

ตอนที่เริ่มดู TR/DG แรกๆ รู้สึกตลกๆกับการตั้งชื่อท่าประจำตัวแต่ละคนเหมือนกัน จะท่าเล็กท่าน้อยก็ตั้งชื่อเว่อร์ๆให้ได้หมดทุกท่า (555) แต่พอดูๆไป ก็เออ เข้าท่าดีเหมือนกัน

ถ้าDG ยุคปัจจุบัน ผมค่อนข้างชอบ YAMATO นะ สเต็ปการเข้าท่าล๊อคพี่แกแน่นเปรี๊ยะๆ เหมือนพวก UWF สมัยก่อนเลย Ring-Psychology พี่แกก็ใช้ได้ น่าเสียดายเหมือนกันที่เสียแชมป์เร็วไปหน่อย

อีกคนนึงที่ผมชอบลีลาอยู่แล้วก็คือ K-NESS เป็นนักมวยปล้ำหน้ากากเหินฟ้าที่อัดได้ดูรุนแรงดี ชอบตั้งแต่เป็น Darkness Dragon ใน TR ดั้งเดิมแล้วครับ

Rynekel

แสดงความคิดเห็น