วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

History of LUCHA LIBRE


จุดเริ่มต้นแห่งหน้ากากและมวยปล้ำเม็กซิโก

โดย : ปูมิ Wrestling Article
The Lucha Libre

      เมื่อพูดถึง “หน้ากาก” ในวงการมวยปล้ำ สิ่งแรกที่คนมักจะนึกถึงและต้องรู้จักก็คือสิ่งที่เรียกว่า Lucha Libre อันมีความหมาย (ในเชิงมวยปล้ำ) ว่าการต่อสู้ในรูปแบบเหิรเวหา รวดเร็ว ปราดเปรียว ซึ่งเป็นสไตล์ของนักมวยปล้ำตัวเล็กซึ่งเห็นได้ทั่วไปในสมาคมมวยปล้ำใหญ่ๆ ทั่วโลก ณ ปัจจุบัน... แต่ที่จริงแล้ว ที่มาที่ไปของมันเป็นอย่างไร?

        ที่มาที่ไปของวงการ Lucha Libre เป็นเช่นเดียวกับวงการ Puroresu (วงการมวยปล้ำญี่ปุ่น) นั่นคือเกิดจากการล้มเหลวอย่างหนักของสถาบันทางการเมือง สำหรับในกรณีของมวยปล้ำญี่ปุ่น มวยปล้ำเกิดขึ้นเพราะชาวญี่ปุ่นต้องการหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ในลักษณะของ Heart Locker หลังจากประสพภัยสงครามอย่างรุนแรง…

       จนมี อาจารย์ Harold Sakata เป็นผู้จุดประกายเรื่องของมวยปล้ำให้แก่ Rikidozan บิดาแห่งมวยปล้ำญี่ปุ่น ด้วยคำพูดอันสวยหรู (ที่ ณ ปัจจุบัน TNA ลอกไปเป็นลายเสื้อของ Ken Anderson แต่ปรับข้อความนิดหน่อย) ก็คือประโยคที่ว่า “People is Fake, Pro Wrestling is Real”

       เขาพูดประโยคนี้กับ ริกิโดซัง เพราะริกิโดซัง อยู่ในช่วงขาดความมั่นใจในตนเอง เพราะตนเป็นคนเกาหลี ซึ่งโดนดูถูกตลอดมาจากคนญี่ปุ่น รวมไปถึงการถูกกีดกันจนทำให้เขาต้องเลิกเล่นซูโม่ด้วย
ทางฝั่ง Mexico ก็เช่นกัน Mexico ประสพปัญหาทางการเมืองอย่างหนัก หลังจากตกอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบxxxอยู่อย่างยาวนาน ไล่มาตั้งแต่ปี 1857 ปีที่เกิดการปฏิวัติรัฐบาลประธานาธิบดี Santa Anna เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลของ Porfirio Diaz
ซึ่งอยู่ในช่วงปลายปี 1800 ไปจนถึงต้นปี 1900 ณ ตอนนี้ประชาชนเม็กซิโกประสพความxxxร้ายทางสังคมอย่างหนัก รัฐบาลใช้ข้ออ้างว่าชาวเม็กซิโกยังไม่พร้อมสำหรับการปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตย” และจัดการรวมอำนาจเข้าสู่ฝ่ายตน

        โดยกล่าวแก่ประชาชน ว่าจะทำการจัดสรรปันส่วนให้ประชาชนในสังคมอย่างเป็นธรรม ซึ่ง ณ ขณะนั้นประเทศเม็กซิโกแบ่งการปกครองเป็นสหพันธรัฐ แย่งการปกครองเป็นส่วนๆ และรัฐบาลก็ได้ส่งคนของคนไปควบคุมแต่ละเมือง แต่ละส่วนของประเทศ เรียกได้ว่าเม็กซิโกถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการนิรนัย อย่างสมบูรณ์ ประชาชนที่ต่อต้านก็ถูกฆ่า

        ตรงนี้เองที่เกิดยุคแห่งความหวาดกลัวของ ประเทศ จนที่สุดก็มีชาว อิตาเลียน สองคน ชื่อ Giovanni Reselevich และ Antonio Fournier ออกมาประชดการทำงานของรัฐบาลที่ลอบทำร้ายประชาชนอยู่ทุกวี่ทุกวันจนเหมือนจะ กลายเป็นเรื่องปกติ โดยทั้งสองคนจัดการต่อสู้ขึ้นมาดูกันเอง ในอารมณ์ประมาณว่า

        “รัฐบาลไม่ต้องมาฆ่ากันให้ดูหรอก พวกเราสู้กันเองดูกันเองก็ได้” โดยพวกเขาเรียกการต่อสู้ที่จัดตั้งขึ้นมาว่า Lucha Libre อันหมายถึง “การต่อสู้โดยไร้กฎกติกา” แต่ถึงกระนั้น การต่อสู้เหล่านี้ ก็ไม่ปรากฏว่ามีการใส่หน้ากากแต่อย่างใด
 ประธานาธิบดีดิอาซ
The First Man Behind the Mask
 
 ”Nothing behind the Mask… There’s only Mask and The Spirit of Wrestler”
       ประโยค ข้างต้นคือประโยคที่ทำให้ผมหันมาสนใจเหล่าหน้ากากในวงการมวยปล้ำ วงการมวยปล้ำหน้ากากจะศรัทธาในความเป็นหน้ากากและพลังของสิ่งนั้น จุดเริ่มและที่มาของหน้ากาก เริ่มต้นขึ้นในปี 1930

       หลังจาก Lucha Libre ได้เริ่มจัดรายการเป็นประจำ และมีแฟนๆติดตามมากมาย โดยบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของ Lucha Libre ก็คือ Salvador Lutteroth ซึ่งได้จัดการปล้ำที่ Arena Mexico

       การจัดการปล้ำของเขานี่เองคือ จุดเริ่มแห่งตำนานมวยปล้ำโลก เมื่อมียอดช่างตัดเครื่องแต่งกายมาติดตามชมมวยปล้ำของเขา ชื่อของชายผู้นี้ก็คือ Don Antonio Martinez ช่างผู้ชำนาญการตัด ซึ่งนอกจากเขาจะได้ชื่อว่าเป็นช่างคนแรกที่ทำการตัดหน้ากากมวยปล้ำแล้ว เขายังได้ชื่อว่าเป็นช่างคนแรกที่ตัด “รองเท้าสำหรับมวยปล้ำ” ให้แก่วงการมวยปล้ำด้วย
นักมวยปล้ำคนแรกที่ได้สวมใส่หน้ากากแห่งตำนาน นี้ก็คือ “Cyclone Mckey” นักมวยปล้ำชื่อดังชาวไอริช ในปี 1930 โดยเขาได้ขอให้ มาร์ติเนซ ตัดหน้ากากให้เขา เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ และเพื่อป้องกันการถูกดึงผม

      แต่ถึงกระนั้นหน้ากากในสมัยนั้น ก็สร้างขึ้นมาเพื่อประดับตกแต่งหรือเป็นเอกลักษณ์เท่านั้น ยังไม่ประกอบด้วยวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับหน้ากากที่เกิดขึ้นในภายหลัง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหน้ากากชิ้นแรกนี้ เป็นหน้าการสไตล์ Luchador คือเป็นหน้ากากโล่งๆ เว้นส่วนจมูก และปาก เอาไว้ เพื่อช่วยในการพูด และหายใจ ทำจากหนังแกะ และยังไม่มีลวดลายใดใด
หน้ากากและผู้สร้างหน้ากากเป็นคนแรก
The Beginning that Change the World !!!
       เมื่อ เวลาผ่านไป วงการ Lucha Libre ก็ค่อยๆได้รับความนิยมขึ้น แต่มันจะมากขึ้นอย่างเช่นทุกวันนี้ไม่ได้เลย หากปราศจากชายที่ชื่อ El Santo สำหรับ El Santo เป็นนักมวยปล้ำที่ได้รับหน้ากากจาก Antonio Martinez เช่นเดียวกัน ซึ่งมีข้อถกเถียงกันมากมายว่า แท้จริงแล้ว El Santo มีกี่คน ?

       เพราะ ว่าน้ำหนักตัว และขนาดของเขานั้นเปลี่ยนไปค่อนข้างจะรวดเร็ว ถึงแม้จะมีการยืนยันว่า El Santo คือ Rodolfo Guzman ก็ตาม (รายละเอียดเรื่องของเขาจะนำมาเขียนแยกเป็นบทความต่อไปครับ)

       หลัง จากกระแสมวยปล้ำหน้ากากดังไปทั่วทั้งทวีป ด้วยนักมวยปล้ำอย่าง El Santo และ Blue Demon (ซึ่งรุ่นทายาทเพิ่งเสียแชมป์ NWA ไปไม่นานนี้) จนในที่สุด กระแสนี้ก็ได้เผยแพร่ไปทั่วโลกในเวลาต่อมา
 Blue Demon และ El Santo (ทั้งสองคนนี้เป็นรุ่นลูก)
Rock The World!!!

       จากนั้นมวยปล้ำหน้ากากก็ได้กลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดแฟนๆมวยปล้ำเข้ามาที่สนามอย่างมากมาย นักมวยปล้ำหน้ากากที่เรียกได้ว่าประสพความสำเร็จมากที่สุดในโลกยุคนั้น (1970) ต้องยกให้ Mil Mascaras (จากภาพ-ภาพสุดท้ายครับ) เขาประสพความสำเร็จด้วยฉายา “นักมวยปล้ำพันหน้า”

       ได้รับความนิยมจน ได้แสดงภาพยนตร์มีชื่อเสียง และในนามของนักมวยปล้ำ เขาก็ได้แชมป์ทั้งจากฝั่ง Mexico อเมริกา เคยได้แชมป์แทกทีมคู่กับ Jeff Jarrett ยอดนักมวยปล้ำคนหนึ่งของโลก (ที่ตอนนี้แก่แล้วฝีมือหดอยู่ที่ TNA)

       นอก จากหน้ากากพันหน้าของเขาแล้ว เขายังมีเทคนิคทางมวยปล้ำที่ยอดเยี่ยม เป็นนักมวยปล้ำคนแรก (ผมคิดว่าคนแรกนะครับ) ที่ได้ชื่อว่า “The man of 1000 Holds” (แต่ใช้จริงๆไม่ถึงครับ พี่แกท่าน้อยมาก เดี๋ยวพุ่ง เดี๋ยวกระโดดขวางลำตัว แต่น่าแปลกที่แมตช์ของแกสนุกอย่างเหลือเชื่อ – แต่ก็แล้วแต่สไตล์คนชอบนะครับ อย่างผมชอบเทคนิค ซึ่งเป็นรูปแบบที่แฟนมวยปล้ำเกลียดที่สุด เพราะมันน่าเบื่อ : P )

       ภาพ ด้านล่างคือตัวอย่างนักมวยปล้ำหน้ากากที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในญี่ปุ่น นักมวยปล้ำเหล่านี้เป็นนักมวยปล้ำที่มีลีลาการปล้ำยอดเยี่ยมและได้รับการยอม รับจากทั่วโลก ถามว่านักมวยปล้ำลักษณะนี้มีเสน่ห์ตรงไหน คำตอบก็คือนักมวยปล้ำเหล่านี้จะสู้ “ในนามของคนอื่น แต่เพื่อตนเอง”

       ฟัง แล้วอาจจะงงๆ ความหมายก็คือ นักมวยปล้ำเหล่านี้ ได้ซึมซับ วัฒนธรรม การ “กลายเป็น” (Bocoming) ไปเสียแล้ว ซึ่งตรงนี้คือบทบาทของนักมวยปล้ำ Lucha ที่ถูกต้องตามหลักดั้งเดิม ความสำคัญของหน้ากากก็เฉกเช่นเดียวกับการขอยืมพลังจากสิ่งนั้นมาเป็นของตน ไม่ต่างกับการใส่หัวโขน ใส่หน้ากากโอเปร่า หรือที่เด็กๆเอาหน้ากากเพาเวอร์เรนเจอร์ มาใส่เล่น

       ส่วนหนึ่งก็ เพื่อปิดบังความเป็นตัวตนของตน เราอาจจะร้องไห้ อาจจะหน้าตาหน้าเกลียด แต่เมื่อเราอยู่ภายใต้หน้ากากนั้นแล้ว เราคือสิ่งนั้น อย่างเช่น คนหน้าตาโหดๆ เถื่อนๆ ดูเหมือนจะข่มขืนคนได้ทุกเวลา ไปใส่ชุดมาสคอต โดเรม่อนอยู่ในห้าง เด็กๆก็จะวิ่งมาหา มาขอจับมือ

       แต่ถ้าเกิดว่า เค้าเอาส่วนหัวที่ปิดบังหน้าเค้าออกเมื่อไหร่ เด็กเหล่านั้นก็จะสิ้นหวัง และร้องไห้กลับบ้านแน่ๆ ลักษณะเดียวกันครับ ที่สำคัญความศรัทธา ความเชื่อตรงส่วนนี้เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากบท การบูชาเสือ บูชาสิงโต บูชากระดูก วิถีนินจา มังกร นกฟีนิกซ์ ฯลฯ เปรียบเสมือนการสร้างผลักดัน ให้มีกำลังจะต่อสู้ และทุ่มเทอย่างเต็มที่บนเวทีนั่นเองครับ
Jushin Liger 
     หมายเหตุ : สำหรับนักมวยปล้ำที่ใส่หน้ากาก อย่างจริงจังคนแรกที่เป็น ชาวญี่ปุ่นจากข้อมูลปรากฏว่าชื่อ Mach Hayato ครับ ภาพประกอบหายากมาก หามาให้ได้เท่านี้ครับ ^^ จากภาพคือคนที่โดนเสยตกเชือกนะครับ ^^
 
GoodBye Luchador

       ในบทสุดท้ายนี้ จะขอกล่าวถึงเรื่องของการเป็นนักมวยปล้ำหน้ากากครับ ^^ เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง ภาพแห่ง “ชีวิตและการจากไป” ของบุคคลก็เกิดขึ้น สำหรับนักมวยปล้ำหน้ากากแล้ว (อาจรวมไปถึงนักมวยปล้ำทุกๆคนด้วย) เรียกได้เต็มปากว่า ชีวิตของตนนั้น ถูกสร้างขึ้นมาด้วยสิ่งนี้ การพัฒนาจาก Nobody ไปเป็น Somebody ในสังคม ได้เติบโตผ่านวงการกีฬาแห่งนี้ เปรียบเสมือนไร้ร่าง ไร้ตัวตนของตัวเอง...

       นักมวยปล้ำหลายคน “ต้องกลาย เป็นใครสักคนที่ตนไม่เคยรู้จัก” ใครคนอื่น อาจจะรู้จักตัวตนเหล่านั้น มากกว่าตัวเขาเองด้วยซ้ำ มันเป็นสัจธรรมแห่งวงการมวยปล้ำ แห่งวงการนักมวยปล้ำหน้ากากทุกๆคน

       ผมขอย้อนกลับไปถึงช่วงปี 1984 วันที่โลกต้องเสียนักมวยปล้ำในตำนานอย่าง El Santo... ทุกคนทราบแค่ว่า “El Santo” ตายแล้ว แต่ใครบ้างเล่าที่จะพูดว่า “โรดอลโฟ่ กุสมัน ตายแล้ว” ไม่มี... นอกจากเพื่อนสนิท ญาติพี่น้อง ณ งานศพของเขา ผมเคยได้เห็นภาพการจัดวางอย่างงดงาม บรรยากาศสวย เหมาะสมกับบุคคลผู้มีคุณค่าเช่นเขา

เพียงแต่มีสิ่งหนึ่งที่ค้างคา และติดในใจของผมรวมถึงแฟนมวยปล้ำหลายๆคน เขาสวมใส่หน้ากากสีทองเช่นเดิม ณ ขณะที่สงบนิ่งอยู่ในโลง เขาจากไปในนามของ El Santo ราวกับว่า Rodolfo Guzman ได้ตายไปตั้งแต่ ณ วันที่เขาตัดสินใจสวมใส่หน้ากากใบนี้เสียแล้ว...
 



0 comments:

แสดงความคิดเห็น